สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลาง พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และ สปป.ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับ ร่องมรสุมกำลังปานกลาง จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ โดยสทนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ดังนี้
๑. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมือง ที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณภาคเหนือ จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน , เฉลิมพระเกียรติ , แม่จริม , บ้านหลวง , ปัว , ท่าวังผา , เวียงสา , ทุ่งช้าง , เชียงกลาง , สันติสุข , บ่อเกลือ , สองแคว และภูเพียง)
๒. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ ๘๐ บริเวณจังหวัดน่าน และอ่างเก็บน้ำ ที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ มากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่าง ฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วม บริเวณด้านท้ายน้ำ ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือเกิด
ผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด
๓. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่ง และท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน (อำเภอเมืองน่าน , เวียงสา , เชียงกลาง , ภูเพียง และท่าวังผา จังหวัดน่าน)
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนดำเนินการ ดังนี้
๑. ติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า ๙๐ มิลลิเมตร ในช่วงเวลา ๒๔ ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
๒. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และพนังกั้นน้ำ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ให้พร้อมใช้งาน และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
๓. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
๔. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน