เทศบาลตำบลปัว ได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอปัว ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลวิชาการ “การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงสำหรับประชาชน” ฉบับที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ โดยคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสารเคมี และเครื่องพ่นสารเคมี ที่ใช้ในงานสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ได้มีมติในที่ประชุมทบทวนและพิจารณาข้อมูลวิชาการดังกล่าว เห็นควรให้ยกเลิกฉบับเดิม และแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลวิชาการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนี้
ข้อแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง
๑. ห้ามใช้ดีอีอีที หรือ Diethyltoluamide (DEET) ในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๔ ปี
๒. ในเด็กที่มีอายุระหว่าง ๔ – ๕ ปี สามารถใช้ดีอีอีที หรือ Diethyltoluamide (DEET) ความเข้มข้นไม่เกิน ๕๕ %
๓. ห้ามใช้ไออาร์ ๓๕๓๕ (IR ๓๕๓๕) ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒ ปี
๔. ในเด็กที่มีอายุระหว่าง ๒ – ๔ ปี สามารถใช้ไออาร์ ๓๕๓๕ (IR ๓๕๓๕) ความเข้มข้นไม่เกิน ๑๒.๕ %
๕. ไอคาริดิน (Icaridin) ไม่เกิน ๒๐ % ใช้ในเด็กที่มีอายุ ๒ ปีขึ้นไป
๖. น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella Oil) ใช้ในเด็กที่มีอายุ ๔ ปีขึ้นไป
๗. สมุนไพรธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ และคำแนะนำการใช้งาน
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง
๑. ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลาก แสดงเลขทะเบียนวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข (วอส.) ในกรอบเครื่องหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือเลขที่รับแจ้ง
๒. ควรใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ
๓. ห้ามนำไปใช้แทนแป้งหรือโลชั่นทั่วไป
๔. ห้ามใช้บริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา , ริมฝีปาก , เปลือกตา , รักแร้ หรือทาบริเวณแผล
๕. ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง
๖. ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์
๗. การใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงในเด็ก ให้ดูที่คำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่า ห้ามใช้ในเด็กอายุเท่าใด เนื่องจากสารออกฤทธิ์แต่ละชนิด จะมีข้อแนะนำการใช้ในเด็กที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ชนิด และความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๔ ปี
๘. ควรอ่านฉลาก พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
๙. ก่อนใช้อย่าลืมทดสอบการแพ้ โดยการทาบริเวณข้อพับหรือท้องแขน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง จึงใช้บริเวณอื่นได้