ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยพบว่า มีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Monkeypox เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า สามารถติดจากสัตว์สู่คน ประเภทลิงหรือสัตว์กระดูกฟันแทะ เช่น หนู , กระรอก เป็นต้น โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และติดจากคนสู่คน เมื่อสัมผัสสารคัดหลั่ง สัมผัสรอยโรค บาดแผล ตุ่มหนอง หรือใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า , เครื่องนอน , ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น หรือหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ สามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ ส่วนการติดต่อผ่านทางละอองฝอย ขนาดใหญ่ หรือจากการหายใจ เช่น การพูดคุยระยะ ๑ เมตร โดยไม่สวมหน้ากากาอนามัย , การจูบกับผู้ติดเชื้อ เป็นต้น เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดเป็นเวลานาน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการก่อนช่วงมีผื่น อาทิ มีไข้ , ต่อมน้ำเหลืองโต , ปวดศีรษะ , ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง , เจ็บคอ และจะมีผื่นแดงราบเปลี่ยนเป็นผื่นแดงนูน ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง บริเวณมือ เท้า ปาก หน้า หน้าอก อวัยวะเพศ และทวารหนัก จากนั้นจะตกสะเก็ด และหลุดลอกออกหมด ใช้เวลา ๒ – ๔ สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้มาก
กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง หากติดเชื้อฝีดาษวานร
๑. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดซีดี ๔ น้อยกว่า ๒๐๐ เซลล์ / ลูกบาศก์มิลลิเมตร
๒. ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด
๓. ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ
๔. ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
๕. ผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็ก
๖. ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก อวัยวะต่าง ๆ
๗. เด็กที่มีอายุน้อยกว่า ๘ ปี
๘. ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยสาร / ยา / รังสี ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
๙. หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร
วิธีการป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษวานร
๑. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้มีผื่น ที่สงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษวานร
๒. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก
๓. ไม่สัมผัสตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ และควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ร้อน และสะอาด
๔. สวมหน้ากากอนามัย
๕. หมั่นล้างมือด้วยน้ำสะอาดบ่อย ๆ
๖. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
๗. เว้นระยะห่างทางสังคม ๑ – ๒ เมตร
๘. หากสงสัยว่าติดเชื้อ ให้แยกตัวออกจากผู้อื่น และรีบไปพบแพทย์