เฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ

เทศบาลตำบลปัว ได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอปัว ว่า กรมควบคุมโรคขอความอนุเคราะห์ประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานเห็ดพิษ ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน สภาพภูมิอากาศมีความเย็นชื้น โดยเฉพาะพื้นที่ภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดป่าหลายชนิด ทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดมีพิษ ประกอบกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นนิยมรับประทานเห็ดป่า จึงทำให้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำทุกปี

โดยเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต คือ เห็ดระโงกพิษ หรือเห็ดระโงกหิน , เห็ดระงาก , เห็ดไข่ตายซาก มีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว แต่แตกต่างกันที่เห็ดระโงกขาวกินได้ จะมีรอยขีดสั้น ๆ เหมือนกับซี่หวีที่ผิวรอบขอบหมวก ก้านกลวง นอกจากนี้ยังพบเห็ดไข่หงส์ หรือเห็ดเผาะมีรากเป็นเห็ดพิษ ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร มักจะมีอาการเร็วภายในเวลา ๔ ชั่วโมง อาการที่มักพบ ได้แก่ วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว จนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นไตวาย ตับวาย และเสียชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ทานผงถ่านกัมมันต์เพื่อดูดซับพิษ และจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป และรีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่ใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมนำตัวอย่างเห็ดพิษ แจ้งประวัติการกินเห็ดต่อเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน ล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบ เพราะอาจทำให้สำลัก เกิดการติดเชื้อ เกิดแผลในคอและช่องปาก ความดันต่ำ หรือระดับเกลือแร่ผิดปกติจากการอาเจียนที่มากเกินไป

ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนให้ซื้อเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์ หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดป่า หรือเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดจะดูดซึมพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด ไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้ โดยขอให้ถือคติ “เห็ดไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน”