การเฝ้าระวังและผลกระทบต่อสุขภาพจากโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)

ในขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โดยในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส อาจจะทำให้ประชาชนมีโอกาสป่วยเป็นโรคฮีทสโตรก โดยจะมีอาการตัวร้อน มีอุณหภูมิสูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

การป้องกันตนเองจากโรคฮีทสโตรก ดังนี้

– สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี

– ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

– ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงและอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

– สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง

– ควรดื่มน้ำ ๒ – ๓ ลิตรต่อวัน เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก

– หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

– ควรเลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าหรือเย็น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อนมาก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบผู้ที่มีอาการเป็นโรคฮีทสโตรก ดังนี้

– นำคนป่วยเข้าที่ร่ม ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย

– ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก เช่น เสื้อคลุม , ถุงเท้า เป็นต้น

– ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้ง ๒ ข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

– ดื่มเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มที่ให้ความชุ่มชื่นต่อร่างกาย

– เช็ดตัว ประคบเย็นตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ลำตัว หรือเป่าลมเย็นให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนได้

– โทรแจ้งสายด่วน ๑๖๖๙ หรือนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที