เทศบาลตำบลปัว ได้รับแจ้งจากท้องถิ่นอำเภอปัวว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โดยเฉพาะในตอนกลางวันมีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดลงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ กอปรกับ สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเหล่านี้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหาร อาจทำให้เกิดสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดโอกาสป่วยจากโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษ โรคอหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย และภัยสุขภาพ ได้แก่ การเจ็บป่วย เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน และการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคติดต่อในระดับพื้นที่ จึงได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ ดูแลร่างกายและสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ดังนี้
๑. มาตรการป้องกัน โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ “กินสุก ร้อน สะอาด”
– เลี่ยงอาหารที่ไม่สุก และสุก ๆ ดิบ ๆ
– กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ (อาหารค้างคืนควรอุ่นร้อนให้ทั่ว)
– ใช้ช้อนกลางตักอาหาร
– ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง (ก่อนทำอาหาร ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ)
– ดื่มน้ำดื่มและน้ำแข็งที่สะอาด ต้มสุก หรือขวดมีฝาปิดสนิท
– ปรับปรุงสุขาภิบาลด้านสถานที่สำหรับการเตรียม ปรุง ประกอบอาหาร กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร สิ่งปฏิกูล ปรับปรุงห้องน้ำ ห้องส้วมให้ถูกหลักสุขาภิบาล
– ผู้ประกอบอาหารและพนักงานเสิร์ฟอาหาร ควรสวมใส่หมวกคลุมผม และผ้ากันเปื้อนระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือก่อนจับอาหารทุกครั้ง ดูแลรักษาทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารภายในห้องครัวทุกวัน และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการอุจจาระร่วงควรหยุดปฏิบัติงานจนกว่าจะหาย หรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
– ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ
๒. มาตรการป้องกันการเจ็บป่วย เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน
– ควรใส่ใจสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์รอบตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน และจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและการทำงาน ให้มีการระบายอากาศที่ดี
– งดออกกำลังกาย ทำงาน หรือกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน และไม่ออกแรงหรือทำงานหนักมากเกินไปในวันที่มีอากาศร้อน
– ปรับสภาพร่างกายให้สามารถทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนได้อย่างเหมาะสม ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำ ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ ๘ – ๑๐ แก้ว
– สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี
– ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติดในช่วงที่มีอากาศร้อน
– ไม่ควรเปิดพัดลมแบบจ่อตัวในขณะที่อากาศร้อนมาก ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
– ควรมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือติดต่อสายด่วน ๑๖๖๙
– หากมีอาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดทันที
๓. มาตรการป้องกันการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากการจมน้ำ
– กรณีที่มีเด็กเล็กในครัวเรือน ควรใช้คอกกั้นเด็ก หรือกำหนดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก เพื่อไม่ให้เด็กเข้าถึงแหล่งน้ำ
– สำรวจและจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น เทน้ำทิ้งจากภาชนะทุกครั้งหลังใช้งาน หรือหาฝาปิด หรือฝังกลบหลุมหรือแอ่งน้ำที่ไม่ได้ใช้งาน ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายในบริเวณพื้นที่เสี่ยง
– ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กทุกคน ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และต้องอยู่ในระยะที่มองเห็น คว้าถึง และเข้าถึงได้
– ไม่ปล่อยทิ้งให้เด็กเล่นน้ำเองตามลำพัง แม้ในกะละมัง ถังน้ำ โอ่ง
– สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงภัยในบ้าน กฎแห่งความปลอดภัยทางน้ำ และวิธีการหลีกเลี่ยง อย่าเข้าไปใกล้แหล่งน้ำ อย่าเก็บสิ่งของหรือของเล่นที่อยู่ในน้ำ และอย่าก้มไปดูน้ำในแหล่งน้ำ
– สอนให้เด็กรู้จักการเอาชีวิตรอดในน้ำ และเรียนรู้วิธีใช้อุปกรณ์ที่สามารถลอยน้ำได้ที่หาได้ง่าย
– สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง คือ ควรตะโกนขอความช่วยเหลือ โทรแจ้ง ๑๖๖๙ และหาอุปกรณ์โยนหรือยื่นให้คนตกน้ำจับเพื่อช่วย เช่น ไม้ เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติก เป็นต้น และวิธีการปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง
– ใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งและตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมทางน้ำ
– มีการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยในชุมชน คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง
– มีมาตรการทางด้านกฎหมาย / กฎระเบียบ / ข้อบังคับ เช่น ห้ามดื่มสุราก่อนลงเล่นน้ำ และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลแหล่งน้ำ